Friday, July 22, 2011

Samsung Galaxy S2

ถึงคราวซัมซุงเปิดสงครามถล่มราคาสมาร์ทโฟนในระบบปฏิบัติการ แอนดรอยด์ แบบ ดูอัลคอร์ (Dual-Core) ด้วยการกำหนดราคาจำหน่ายสุทธิเพียง 18,900 บาท ทำให้ถือเป็นการเปิดสงครามสมาร์ทโฟนไฮเอนด์ระหว่างอินเตอร์แบรนด์ด้วยกัน หลังแอลจีเริ่มทำตลาดมาเกือบเดือน ส่วนทางเอชทีซีเองก็มีนโยบายเปิดจองในราคาเดียวกัน
การเข้ามาของสมาร์ทโฟนดูอัลคอร์ ถือเป็นการกำหนดสเปกของสมาร์ทโฟนในตลาดไปโดยปริยาย จะเห็นได้จากเครื่องรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำตลาดในช่วงราคาเกือบ 2 หมื่นบาทของทั้ง ซัมซุง Galaxy S2 แอลจี Optimus 2X และเอชทีซี Sensation จะใช้หน่วยประมวลผลแบบดูอัลคอร์ด้วยกันทั้งหมด แต่เนื่องจาก Optimus 2X ออกมาวางจำหน่ายก่อนจึงเป็นรุ่นเดียวที่ใช้ซีพียู 1GHz
จุดเด่นของซัมซุง Galaxy S2 ที่ถือว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่น่าจับตามองในเมืองไทยขณะนี้คือ หน่วย ประมวลผล Exynos หรือที่รู้จักกันในโค้ดเนม Orion ที่มาพร้อมความเร็ว 1.2 GHz และหน่วยประมวลผลภาพ Mali-400 MP ที่ช่วยประมวลผลภาพยนตร์ความละเอียด 1080p ได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้สามารถใช้งานไฟล์และแอปฯในระบบ Hi-Def ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รวมถึงยังเป็นเครื่องที่รองรับ 3G ในเครือข่าย Quad-Band กล่าวคือรองรับคลื่นความถี่ทั้ง 850/900/1900/2100 MHz ทำ ให้สามารถเข้าไปทำตลาดได้กับทั้ง 3 โอเปอเรเตอร์หลักในประเทศไทย แต่น่าเสียดายที่ทางซัมซุงประเทศไทยออกมาประกาศว่าเครื่องที่ซื้อในประเทศ ไทยจะมีการล็อกคลื่นความถี่เพื่อปรับจูนให้เหมาะสมกับการใช้งานโอเปอเรเตอร์ นั้นๆ
Feature On Samsung Galaxy S2

Galaxy S2 ยังมาพร้อมกับอินเตอร์เฟส TouchWiz 4.0 ที่มีการปรับปรุงความสามารถให้เหมาะกับรูปแบบการใช้งานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการจัดเรียงวิตเจ็ตที่หน้าจอหลักทั้ง 7 หน้า พร้อมมุมมองแบบ Helicopter View ที่ช่วยให้ดูหน้าหลักทั้ง 7 หน้าพร้อมๆ กันได้

ขณะที่แถบแจ้งเตือนยังคงมีปุ่มลัดสำหรับเปิด-ปิดการใช้งาน ไวไฟ บลูทูธ จีพีเอส เสียง และระบบหมุนหน้าจอ ซึ่งถ้ามีการเปิดเพลงฟังอยู่จะมีแถบควบคุมเพลงขึ้นมาให้ด้วย เช่นเดียวกับหน้าจอปลดล็อกที่ยังใช้สไตล์ในการสบัดกรอบที่คลุมหน้าจอทิ้ง เพื่อเข้าใช้งาน
ล่างหน้าจอหลักมีไอค่อนหลัก 4 ไอค่อนสำหรับเป็นทางลัดเข้าโหมดใช้งานโทรศัพท์ ดูรายชื่อผู้ติดต่อ ข้อความ และเข้าสู่เมนูแอปพลิเคชันทั้งหมด ที่สามารถเลือกเปลี่ยนได้จากในหน้าเมนูหลัก ทั้งนี้สามารถกดปุ่มซอฟต์คีย์ค้างเพื่อสลับการใช้งานระหว่างแอปฯได้เหมือน เช่นเดิม

หน้าจอเมนูหลักของ Galaxy S2 ยังคงเป็นแบบหน้าๆ เพิ่มไปตามจำนวนแอปฯ โดยใช้การเลื่อนซ้าย-ขวา เพื่อเปลี่ยนหน้า ซึ่งในเวอร์ชันนี้ ผู้ใช้สามารถสร้างโฟลเดอร์เพื่อรวมแอปฯประเภทเดียวกันไว้ด้วยกันได้ หรือสร้างหน้าใหม่ขึ้นมาเพื่อเรียงแอปฯไว้ในหมวดเดียวกัน
โดยแอปพลิเคชันส่วนใหญ่ที่ซัมซุงพรีโหลดมาให้ในเครื่องยังคงเป็นแอปฯ พื้นฐานที่มากับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ มีที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นมาอย่าง Game Hub, Readers Hub, Social Hub, Music Hub, AllShare, Kies air, Photo-Video editor, SamsungApps, Taskmanager และ IM ที่จะกล่าวถึงรายละเอียดต่อไป

SamsungApps คือช่องทางแนะนำแอปฯที่ซัมซุงพยายามปลุกปั้นขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถ เข้าไปดาวน์โหลดแอปฯที่น่าสนใจได้ง่ายขึ้น โดยมีหัวข้อหลักๆให้เลือกเป็นแอปฯน่าสนใจ จำนวนคนดาวน์โหลดสูงสุด แบ่งตามหมวหมู่ และค้นหาจากชื่อ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็ไม่แตกต่างจากไปค้นหาในแอนดรอยด์มาเก็ต

ส่วนของ Game Hub ก็จะเป็นแหล่งรวมเกมให้ดาวน์โหลดซึ่งจะเป็นเป็น เกมทางสังคม หรือเกมในโซเชียลเน็ตเวิร์กที่เมื่อดาวน์โหลดมาเล่นต้องมีการซิงค์เข้ากับ เฟซบุ๊กเป็นต้น ขณะที่อีกส่วนคือเกมพรีเมียมที่ในปัจจุบันจะมีแต่จากค่าย Gameloft มาให้โหลดเพื่อทดลองเล่น แต่ถ้าต้องการตัวเต็มก็สามารถซื้อเพิ่มจากมาเก็ตได้

Reader Hub เป็นแอปฯที่เคยถูกแนะนำมาแล้วครั้งหนึ่งใน Galaxy Tab ซึ่งเป็นแอปฯสำหรับใช้อ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือต่างๆจาก Kobo ที่สามารถเลือกคอนเทนต์จากภายในฮับได้ทันที

การแสดงผลของหนังสือพิมพ์ นิตยสารต่างๆ จะมาในรูปแบบคล้ายๆไฟล์ pdf ผู้ใช้สามารถใช้นิ้วเพื่อพินช์ซูมได้เหมือนอ่านไฟล์เอกสารทั่วไป สั่งเปลี่ยนหน้าโดยการใช้นิ้วสไลด์เหมือนเปลี่ยนรูปภาพ ซึ่งจากขนาดหน้าจอ 4.3 นิ้ว น่าจะถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเสพย์ข้อมูลได้เป็นอย่างดี
ส่วน SocialHub เองซัมซุงไม่ได้มีการพัฒนาจากในรุ่นก่อนหน้านี้เท่าใดนัก มักใช้ในการอ่านฟีดสถานะใหม่จากทั้งทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ รวมไปถึงเข้าไปยังโปรแกรมแชตที่มาให้ใน IM ส่วน MusicHub นั้นยังไม่สามารถใช้งานในประเทศไทยได้

จากความที่ตัวเครื่องมีไวไฟ ที่รองรับ DLNA จึงสามารถใช้งานแอปฯ AllShare เพื่อส่งต่อไฟล์วิดิโอ รูปภาพ เพลง ไปยังอุปกรณ์ที่รองรับอย่างพีซี โน้ตบุ๊ก และยังสามารถใช้ S2 เป็นรีโมทควบคุมโทรทัศน์ที่รองรับระบบ DLNA ได้ด้วยเช่นกัน

Kies Air เป็นอีกหนึ่งระบบการซิงค์ข้อมูลที่ทางซัมซุงพัฒนาขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนไฟล์ระ หว่างสมาร์ทโฟนและพีซี โดยใช้ความสามารถของไวไฟ จากเดิมที่ผู้ใช้ต้องเชื่อมต่อสายยูเอสบี หรือใช้บลูทูธในการเชื่อมต่อนั่นเอง
การใช้งานผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องลงแอปฯในพีซีแต่อย่างใด เพียงแต่เปิดเว็บเบราว์เซอร์พิม URL ที่ปรากฏบนหน้าจอเข้าไป หลังจากนั้นก็จะสามารถใช้งานเพื่อเรียกดูข้อมูล ไฟล์รูปภาพ วิดีโอ สั่งเล่นเพลง ตั้งเสียงเรียกเข้า อ่านข้อความ ดูรายชื่อผู้ติดต่อ ย้ายไฟล์ จากหน้าเว็บเบราว์เซอร์ได้ทันที

TaskManager เป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่ผู้ใช้ควรเข้า มาใช้งานบ่อยๆ เนื่องจากการเปิดหลายๆแอปฯค้างไว้ จะทำให้ S2 มีระยะเวลาการใช้งานต่อวันสั้นลง ดังนั้นถ้ามีความจำเป็นต้องเดินทางหรือใช้เวลาอยู่ข้างนอกเป็นเวลานาน TaskManager ยังเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกเพื่อช่วยประหยัดแบตเตอรี

ฟังก์ชันกล้องถ่ายรูปมีการพัฒนาอินเตอร์เฟสในการใช้งานให้เหมาะสมกับ การใช้งานมากขึ้น โดยแบ่งปุ่มควบคุมออกเป็น 2 ฝั่งซ้าย-ขวา พื้นที่ตรงกลางถูกปล่อยว่างไว้เพื่อเป็นช่องดูภาพ
แถบฝั่งซ้ายประกอบไปด้วยปุ่มสลับกล้องหน้าหลัง เปิด-ปิดแฟลช มีพื้นที่ว่างสำหรับใส่ไอคอนลัดในการปรับแต่งตามความต้องการของผู้ใช้ และปุ่มเข้าสู่การตั้งค่าทั้งหมด ส่วนฝั่งขวามีปุ่มสลับโหมดถ่ายภาพและวิดีโอ ปุ่มชัตเตอร์กล้อง และเข้าสู่อัลบั้มภาพ
เมนูการตั้งค่ากล้องประกอบไปด้วยตั้งรูปแบบการถ่ายภาพ เลือกฉาก เอฟเฟกต์ ปรับค่าสมดุลแสงขาว ปรับค่าความไวแสงตั้งแต่อัตโนมัติ – 800 ตั้งจุดวัดแสง เลือกความละเอียดภาพ ตามปกติของกล้องบนสมาร์ทโฟนทั่วๆไป

Photo editor เป็นโปรแกรมตกแต่งภาพเบื้องต้นที่ซัมซุงมีมาให้ภายในเครื่อง โดยผู้ใช้สามารถเลือกภาพจากอัลบั้ม หรือถ่ายภาพใหม่ เพื่อนำมาใส่เอฟเฟกต์ ปรับสี ครอบรูป รวมถึงใช้โหมดตกแต่งภาพปรับเอฟเฟกต์เฉพาะส่วนที่ต้องการก็ได้

ส่วนโปรแกรมตัดต่อวิดีโอก็เช่นกัน สามารถใช้ตัดต่อแบบพื้นฐาน ใส่ธีม เลือกช่วงเวลา ใส่เอฟเฟกต์ระหว่างทรานซิชันวิดีโอ แม้ว่าจะไม่สามารถใช้งานได้เหมือนในพีซี แต่ก็ช่วยเพิ่มความสนุกในการใช้งาน

การใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ของแอนดรอยด์ยังคงมีจุดเด่นอยู่ที่สามารถ ใช้งานแฟลชได้ และเมื่อหน่วยประมวลผลเร็วขึ้น ความลื่นไหลในการใช้งานก็เพิ่มขึ้นด้วย การแสดงผลสามารถซูมเข้า-ออกได้ง่ายดายยิ่งขึ้น เมื่อใช้งานร่วมกับโมชันเซ็นเซอร์ของเครื่อง

แอปฯสำหรับฟังเพลงยังมีรูปแบบการแสดงผลง่ายๆให้ผู้ใช้สามารถเลือกดู เพลงทั้งหมด จากเพลยลิสต์ อัลบั้ม ศิลปิน หน้าจอขณะฟังเพลงมีการแสดงปกอัลบั้มพร้อมกราฟิก สามารถกดให้เล่นสุ่ม เล่นซ้ำ กดเมนูเพื่อเลือกเก็บเพลงเข้าเพลยลิสต์ ตั้งฟังผ่านหูฟังบลูทูธ ส่งต่อเพลง ตั้งเพลง เลือกเอฟเฟกต์เสียง

การใช้งานโมชันเซ็นเซอร์ใน S2 ถูกเพิ่มความสามารถเพื่อให้ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น เช่น การสัมผัสค้างกลางหน้าจอและแพนเครื่องไปทางซ้ายหรือขวา เพื่อสลับไปยังหน้าถัดไป การใช้ 2 นิ้วสัมผัสที่หน้าจอและเอียงจอขึ้นลง เพื่อซูมเข้า-ออก ในขณะที่มีสายเรียกเข้าสามารถคว่ำเครื่องเพื่อปิดเสียง แตะที่ส่วนบนเครื่อง 2 ทีเพื่อเข้าสู่โหมดสั่งงานด้วยเสียงเป็นต้น

โหมดโทรศัพท์ยังคงเป็นเช่นเดียวกับใน Galaxy S รุ่นก่อนหน้านี้ กล่าวคือมีปุ่มกดตัวเลขพร้อมระบบคาดเดารายชื่อ และเนื่องจากมีกล้องหน้าจึงสามารถใช้งานเป็นวิดีโอคอลล์บนเครือข่าย 3G ได้ หน้าจอสายเรียกเข้าใช้การสไลด์เพื่อรับสายเช่นเดิม
ที่น่าสนใจคือโหมดตัดเสียงรบกวนที่ทำออกมาได้ค่อนข้างดี สามารถเข้าไปเปิดใช้ได้จากกดปุ่มเมนูในขณะโทรศัพท์เพื่อเลือกโหมดตัดเสียง รบกวน และจะมีสัญลักษณ์ขึ้นแสดงบนหน้าจอ ส่วนปุ่มคำสั่งขณะสนทนาประกอบไปด้วย ปุ่มเพิ่มสาย คีย์แพด วางสาย เปิดลำโพง ปิดเสียง และใช้งานหูฟัง

คีย์บอร์ดใน Gaaxy S2 ยังคงเป็นแบบ Swype ที่มีให้เลือกใช้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษเช่นเดียวกับใน Galaxy S รุ่นแรกที่ออกวางจำหน่าย การใช้งานคีย์บอร์ดทำออกมาได้ค่อนข้างดี ถือว่าเป็นหนึ่งในคีย์อบอร์ดภาษาไทยที่ประสบความสำเร็จในแอนดรอยด์โฟนก็ว่า ได้

การตั้งค่าต่างๆภายในแอนดรอยด์ 2.3 นั้นนอกจากการตั้งค่าทั่วๆไปอย่างการเชื่อมต่อ โทรศัพท์ เสียง หน้าจอ โลเคชัน แอปพลิเคชัน หน่วยเก็บข้อมูล ภาษา คีย์บอร์ด คำสั่งเสียง วันเวลาแล้ว ที่มีเพิ่มขึ้นมาคือโหมดประหยัดพลังงาน การตั้งค่าโมชันเซ็นเซอร์ ตั้งค่าดอกกิ้ง เป็นต้น

ในส่วนของสเปกภายในของ Samsung Galaxy S2 ที่ขายจริงจะใช้หน่วยประมวลผล Exynos (Orion) ความเร็ว 1.2 GHz และหน่วยประมวลผลภาพ Mali-400 MP หน่วยความจำภายใน 16 GB ROM 2 GB RAM 1 GB ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เวอร์ชัน 2.3.3 หน้าจอสามารถรองรับมัลติทัชได้ทั้งหมด 10 จุดด้วยกัน ผลการทดสอบประสิทธิภาพบนโปรแกรม Quadrant Advance ได้คะแนนที่ 3003 คะแนน ส่วน SmartBench 2011 อยู่ที่ 3425 คะแนน
ที่น่าสังเกตคือตรงส่วนของซีพียูเครื่องที่ทีมงานได้รับมาทดสอบนั้น Max Freq. ในหลายๆโปรแกรมแสดงผลสูงสุดแค่ 1 GHz เท่านั้น เลยยังไม่ขอยืนยันว่าเครื่องที่ได้รับมานั้น เป็นเครื่องสเปกที่วางจำหน่ายจริงหรือไม่ เพราะถ้าไม่ใช่คะแนนการเทสต่างๆคงทะยานขึ้นไปสูงกว่านี้

ขณะที่การประมวลผลภาพบน NenaMark 1 และ 2 ได้เฟรมเรทอยู่ที่ 59.8 FPS และ 36.1 FPS ตามลำดับ An3DBench และ An3DBenchXL อยู่ที่ 7621 และ 28838 ส่วน Neocore ได้เฟรมเรทอยู่ที่ 59.7 FPS
ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปเทียบกับหน่วยประมวลผลจากค่ายการ์ดจออย่าง Nvidia Tegra 2 แล้ว พบว่า การทำคะแนนต่างๆของ S2 เครื่องที่ได้มาทดสอบนั้นค่อนข้างต่ำกว่า จึงอาจเป็นไปได้ว่าเครื่องที่ได้รับมานั้นมีการล็อกไว้ไม่ให้ประมวลผลเร็ว เกิน 60 FPS ซึ่งอาจจะเพื่อกันไม่ให้แบตเตอรีหมดเร็วก็เป็นได้
Design of Samsung Galaxy S2

ในเรื่องการออกแบบของ Galaxy S2 คงไม่ต้องไปพูดถึงว่ามีส่วนคล้ายคลึงกับสมาร์ทโฟนเจ้าใดในตลาด เพราะปัจจุบันยังมีการฟ้องร้องเรียกสิทธิความเป็นเจ้าของดีไซน์กันอยู่ เรื่อยๆ แต่ที่น่าสนใจคือวัสดุการประกอบของ Galaxy S2 ที่แม้จะเป็นเครื่องระดับไฮเอนด์ แต่ยังให้ความรูปสึกบอบบางอย่างสัมผัสได้
ความบอบบางของ Galaxy S2 มาพร้อบกับขนาดเครื่อง 125.3 x 66.1 x 8.5 มิลลิเมตร และน้ำหนักตัว 116 กรัม ซึ่งเรียกได้ว่ามีความบางเกือบจะที่สุดของสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน ทำให้วัสดุที่ใช้เป็นตัวเครื่องส่วนใหญ่จะเป็นพลาสติกคุณภาพสูงที่มีการ ยืดหยุ่น ที่หุ้มด้วยโครเมี่ยมทำให้ดูค่อนข้างมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นจาก Galaxy S
ด้านหน้า – ไล่จากส่วนบนประกอบไปด้วย กล้องหน้าความละเอียด 2 ล้านพิกเซล เซ็นเซอร์ตรวจวัดแสง และเซ็นเซอร์ตรวจจับใบหน้า ที่เรียงกันอยู่ข้างๆลำโพงสนทนา ที่เป็นขีดแนวยาวนูนขึ้นจากพื้นผิวเล็กน้อย
ถัดลงมาเป็นหน้าจอ Super AMOLED ขนาด 4.3 นิ้ว ที่เพิ่มความแข็งแกร่งจากกระจกกอริลากลาส โดยหน้าจอเป็นทัชสกรีนแบบ Capacitive 16 ล้านสี ความละเอียด 480 x 800 พิกเซล ล่างหน้าจอมีปุ่มเมนู (สัมผัสค้างเพื่อเข้าสู่โหมดค้นหา) และย้อนกลับที่เป็นแบบสัมผัส และซอฟต์คีย์ตรงกลางสำหรับกลับหน้าแรก (กดค้างเพื่อเรียกดูแอปฯที่ใช้ย้อนหลัง)

ด้านหลัง – พื้นผิวสัมผัสบริเวณฝาหลังถูกทำให้มีความสากเล็กน้อยเพื่อช่วยให้จับตัว เครื่องได้กระชับมือมากยิ่งขึ้น โดยตรงกลางบนจะมีกล้องความละเอียด 8 ล้านพิกเซล พร้อมไฟแฟลชแอลอีดี และมีตราซัมซุงอยู๋บริเวณล่าง จุดที่น่าสนใจคือบริเวณส่วนล่างของเครื่องจะมีความนูนขึ้นบริเวณปลายเล็ก น้อย ซึ่งเป็นที่อยู่ของลำโพงสเตอริโอ และยังช่วยให้จับตัวเครื่องได้กระชับมือขึ้นอีกเช่นกัน

เมื่อเปิดฝาหลังออกมาจากการเลาะตัวล็อกบริเวณขอบราว 17 ตัว จะปรากฎช่องใส่ซิมการ์ดที่อยู่ล่างกล้อง ถัดลงมาเป็นช่องใส่ไมโครเอสดีการ์ดที่อยู๋เยื้องไปทางซ้าย และช่องใส่แบตเตอรี Li-ion ขนาด 1,650 mAh ตัวฝาหลังเองมีความยืดหยุ่นค่อนข้างมากทำให้สามารถงอได้โดยที่พลาสติกไม่หัก ช่วยเพิ่มความอุ่นใจในการรองรับแรงกระแทกเพิ่มขึ้น


ด้านซ้าย – มีรูร้อยสายโทรศัพท์ และปุ่มปรับระดับเสียง ด้านขวา - มีปุ่มเปิด-ปิด เครื่อง (ผู้ใช้สามารถกดปุ่มซอฟต์คีย์พร้อมกับปุ่มเปิดเครื่องเพื่อจับภาพหน้าจอได้ด้วย)


ด้านบน - มีช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. และรูไมโครโฟนช่วยไว้ช่วยตัดเสียงรบกวนเวลาเปิดลำโพงสนทนา ด้านล่าง - มีพอร์ตไมโครยูเอสบี ไว้เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ สายชาร์จ และยังใช้เป็น HDMI-Out ได้อีกด้วย
บทสรุป
การเปิดราคาของ Galaxy S2 ที่ 18,900 บาท อาจกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ผู้ที่กำลังรอจังหวะเปลี่ยนสมาร์ทโฟนเครื่อง ใหม่ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น พร้อมกับเป็นตัวผลักดันให้แบรนด์อื่นๆต้องกดราคาเครื่องในระดับเดียวกันลงมา ตาม งานนี้ผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคงหนีไม่พ้นผู้บริโภคอย่างแน่นอน
นอกจากเรื่องของสเปกแล้วจุดที่ทำให้ Galaxy S2 ดูน่าสนใจคงหนีไม่พ้นหน้าจอ Super AMOLED Plus ขนาด 4.3 นิ้ว ที่ถือว่าเป็นขนาดใหญ่สุดสำหรับสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน ใครที่เคยได้เห็นและสัมผัสคงนึกได้ว่าสีสันที่ฉูดฉาดบาดตา ช่วยเพิ่มความรู้สึกต่อการตัดสินใจซื้อได้ไม่ยาก แต่ควรพึงระวังไว้ว่าภาพที่เห็นในโทรศัพท์กับภาพจริงคุณภาพอาจไม่เท่ากัน
ส่วนการรองรับ 3G แบบ QuadBand ที่ความเร็วดาวน์โหลดสูงสุด 21 Mbps และความเร็วอัปโหลด 5.76 Mbps นั้นแม้ว่าทางซัมซุงจะมีการล็อกคลื่นความถี่เฉพาะกับแต่ละโอเปอเรเตอร์ (AIS 900 MHz / Dtac-True 850 MHz) แต่ยังมีคลื่นหลักอย่าง 2100 MHz ให้ได้ใช้งานกัน ทั้งนี้ผู้ใช้สามารถปลดล็อกคลื่นได้จากการลงเฟิร์มแวร์ใหม่เอง หรือกดจาก *#2263# เพราะจากเครื่องที่ทีมงานได้มาทดลองใช้นั้นสามารถใช้งาน 3G ได้ทุกคลื่นความถี่
แน่นอนว่ายังมีการเชื่อมต่อจาก ไวไลสที่รองรับมาตรฐาน 802.11 b/g/n ที่สามารถใช้งาน Wi-Fi Direct, DLNA และเป็น Hot-Spot ได้ด้วย รวบกับบลูทูธ 3.0 ทำให้เรียกได้ว่าเป็นสมาร์ทโฟนไฮเอนด์ครบครันเครื่องหนึ่งในตลาดเลยก็ว่าได้
ขณะที่ความสามารถทางด้านมัลติมีเดียนั้น กล้องหลังความละเอียด 8 ล้านพิกเซล ยังสามารถใช้ถ่ายวิดีโอระดับ 1080p และใช้ความสามารถของหน่วยประมวลผลช่วยให้สามารถเล่นไฟล์ระดับ Full HD ได้อย่างไม่กระตุก ยังไม่นับรวมเกมความละเอียดสูงที่กำลังจะตามออกมา ทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับจอโทรทัศน์ผ่านยูเอสบีจากอุปกรณ์เสริมที่แปลงหัว เป็น HDMI ได้
สุดท้ายในส่วนของเสียงสนทนา Galaxy S2 ทำออกมาได้ค่อนข้างดี เสียงดังฟังชัดเจน แต่ในเรื่องของระยะเวลาการใช้งานแม้ว่าจะให้แบตฯขนาด 1,650 mAh มาก็ตาม หน่วยประมวลผลแบบดูอัลคอร์ และหน้าจอขนาด 4.3 นิ้ว ยังคงใช้ปริมาณแบตฯค่อนข้างเยอะ ทำให้ระยะเวลาการใช้งานยังอยู่ในระดับไม่ถึงวันถ้าใช้งานหนักๆ แต่ถ้ามีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เปิดพุชเมล ซิงค์โซเชียลเน็ตเวิร์ก ให้ทำงานตลอดเวลา คงอยู่ได้ไม่ถึงวันอย่างแน่นอน
ขอชม
- Dual-Core 1.2GHz ในราคา 18,900 บาท
- หน้าจอ Super AMOLED Plus ขนาด 4.3 นิ้ว ให้สีสันสดใส
- รองรับ 3G Quad-Band
- รองรับไฟล์ภาพยนตร์ความละเอียดสูง 1080p และเกม HD
ขอติ
- เครื่องที่วางจำหน่ายในไทย ไม่รองรับ NFC
- ตัวเครื่องทำจากพลาสติกเป็นหลักทำให้ดูบอบบาง
- หน้าจอยังเป็น WVGA ขณะที่ Atrix/Sensation เป็น qHD

ที่มา Manager Online

No comments:

Post a Comment

Popular Posts